ในห้องนิทรรศการเครื่องประดับและอัญมณี ที่ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ ได้จัดแสดงเครื่องประดับและปกปิดร่างกายของเด็กหญิงไทยในสมัยโบราณที่เรียกว่า “จับปิ้ง” ที่มีความวิจิตร งดงาม ประณีต ละเอียดอ่อนด้วยฝีมือช่างโบราณในราชสำนัก จัดสร้างด้วยทองคำและอัญมณีมีต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยจับปิ้งที่นำออกมาจัดแสดง มีด้วยกัน ๓ ชิ้นคือ ๑. จับปิ้งทองคำประดับทับทิม เป็นจับปิ้งรูปใบโพตรงกลางนูน ทำด้วยทองคำ สลักลายใบเทศประดับด้วยทับทิม ด้านบนมีแท่งทรงกระบอกกลวงตรงกลาง สำหรับร้อยสายสร้อย ๒. จับปิ้งเงินถมตะทอง เป็นจับปิ้งรูปใบโพ ทำด้วยเงินถมตะทอง ตรงกลางนูน สลักดุนลายตรงกลางเป็นลายดอกใบเทศ ขอบด้านข้างเป็นลายใบเทศ มุมด้านบนประดับด้วยดอกไม้สี่กลีบ มุมด้านล่างประดับด้วยกระจังใบเทศ ด้านบนมีห่วงสำหรับร้อยสายสร้อย ๓. จับปิ้งเงินถมตะทอง เป็นจับปิ้งรูปใบโพ ทำด้วยเงินถมตะทอง ตรงกลางนูน สลักดุนลายรักร้อยใบเทศและลายก้านต่อดอกใบเทศโดยรอบ มุมด้านบนประดับด้วยดอกลำดวน มุมด้านล่างประดับด้วยกระจัง ใบเทศ ด้านบนทำเป็นหลอดสำหรับร้อยสายสร้อย ชาวสยามนิยมผูกจับปิ้งให้กับเด็กผู้หญิง ซึ่งจัดทำด้วยวัสดุที่หลากหลายตามฐานะของผู้สวมใส่ นิยมทำด้วยโลหะที่ไม่เป็นสนิม โดยจับปิ้งสำหรับเจ้านาย และบุตรหลานขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มักทำด้วยทองคำ ส่วนของเด็กผู้หญิงทั่วไปมักทำด้วยเงินและนาก ส่วนผู้ที่มีฐานะยากจนจะใช้จับปิ้งจากกะลามะพร้าว ญาติผู้ใหญ่จะผูกจับปิ้งให้ลูกหลานหลังจากโกนผมไฟ จนกระทั่งอายุประมาณ ๑๐ – ๑๒ ขวบหรือกระทั่งโกนจุกจึงเลิกใช้จับปิ้งเปลี่ยนไปนุ่งห่มเสื้อผ้าตามฐานะ จับปิ้งในสยาม มี ๒ รูปทรง คือ ๑. จับปิ้งทรงทะนาน หรือรูปใบโพ มีขนาดประมาณครึ่งฝ่ามือ โตพอที่จะปิดบังอวัยวะเพศของผู้สวมใส่ได้มิดชิด ตอนบนกลมป้อม ตอนล่างเรียวแหลม ตรงกลางโค้งนูนเป็น กระเปาะ ด้านหน้าสลักลวดลายต่างๆ เช่น ลายพันธุ์พฤกษา ด้านหลังเรียบเกลี้ยง ขอบด้านบนมีแท่งทรงกระบอกกลวงตรงกลาง หรือเจาะรูเล็กๆ ๒ รู ใช้ร้อยสร้อยหรือเชือกสำหรับ ผูกบริเวณบั้นเอว ขอบจับปิ้งมักเลี่ยมให้มนเพื่อป้องกันไม่ให้บาดเนื้อผู้สวมใส่ ๒. จับปิ้งทรงร่างแห ถักด้วยเส้นโลหะขึ้นเป็นแผ่นค่อนข้างโปร่งรูปร่างคล้ายกระเบื้องเกล็ดเต่าหรือรูปสี่เหลี่ยมชายแหลม ตอนบนจะมีห่วงสำหรับร้อยสร้อยสำหรับผูกกับบั้นเอว ปัจจุบันจับปิ้งกลายเป็นเครื่องประดับที่หายาก และเป็นที่ต้องการของนักสะสมของเก่า อีกทั้งพิพิธภัณฑ์บางแห่งได้นำจับปิ้งมาใช้เป็นวัตถุจัดแสดงเพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของสังคมไทยในอดีตให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้และชื่นชม ความงดงาม ที่มา : พืพืธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์