พระแสงราชศัสตรา ประจำเมืองกำแพงเพชร เป็นพระแสงประจำเมืองหนึ่งเดียวที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่๑ ในขณะที่พระแสงดาบประจำเมืองของจังหวัดอื่นๆ ล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาทั้งสิ้น โดยพระองค์พระราชทานแก่พระยากำแพงเพชร (นุช) เป็นบำเหน็จเมื่อครั้งไปราชการทัพที่เมืองปัตตานี พระแสงศัตราประจำเมืองกำแพงเพชรนี้เป็นพระแสงด้ามทอง ฝักทอง เป็นอาวุธประจำกายมิได้ไว้รบ เป็นพระแสงดาบคู่พระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีลักษณะเหมือนดาบล้านนา คือเรียวยาวและขนาดเล็ก มีความยาว 88.5 เซน ด้ามยาว 39.5 เซน ฝักยาว 49 เซน ใบดาบยาว 45.5 เซน ใบดาบกว้าง 2.4 เซน มีน้ำหนักของด้ามพร้อมใบพระแสงราชศัสตรา 471 กรัม น้ำหนักของฝักพระแสงราชศัสตรา 165.2 กรัม รวมน้ำหนัก 632.2 กรัม พระราชทานแก่ พระยากำแพง(นุช) เมื่อคราวไปรบชนะ "เมืองปัตตานี " พร้อม"แขกปัตตานีเชลย" มาไว้ที่ เกาะแขก จำนวน 100 ครอบครัวและพระราชทานตำแหน่งให้เป็นที่ " พระยารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ" กินเมืองกำแพงเพชร ดาบฝักทอง พระแสงอาญาสิทธิ์เป็นของพระราชทานประจำตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชรมาหลายชั่วอายุคน คือ พระยากำแพง(นาค) พระยากำแพง(บัว) พระยากำแพง(น้อย) พระยากำแพง(เกิด) พระยากำแพง(อ้น) และตกทอดมาถึงหลวงพิพิธอภัย (หวล ) บุตรพระยากำแพงอ้น ซึ่งมิได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร เมื่อเดือนสิงหาคมพุทธศักราช ๒๔๔๙ พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร หลวงพิพิธอภัย จึงได้นำดาบฝักทองพระราชทานไปถวายคืนแก่พระพุทธเจ้าหลวง แต่พระองค์พระราชทานกลับคืนมาให้เป็นสมบัติประจำเมืองกำแพงเพชร พระแสงดาบศาสตราเมืองกำแพงเพชร เก็บรักษาไว้ที่ห้องมั่นคง สำนักงานคลังจังหวัดกำแพงเพชร โดยไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม ยกเว้นทายาทพระยากำแพงเพชร ในสายสกุลต่างๆ ที่มาร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายพระพุทธเจ้าหลวง เนื่องในวันปิยะมหาราช เดือนตุลาคม เท่านั้น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่มีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองอีกส่วนพระแสงองค์เก่าก็เก็บรักษาไว้ในคลังของแต่ละจังหวัดในสมัยรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชนิยมโปรดกล้าฯให้สร้างพระพุทธนวราชบพิตรพระราชทานไปประดิษฐานในจังหวัดต่างๆแทน และยังทรงอนุรักษ์สืบสานโบราณราชประเพณีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับการถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองคืนขณะพระองค์เสด็จไปประทับ ณ เมืองนั้น และเมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ ก็ได้พระราชทานคืนให้จังหวัดรักษาไว้ดังเดิม