หลังจากประเทศอังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้จีนเมื่อปี ค.ศ.1997 ทางการจีน ทางจีนจึงได้มอบรูปปั้น “ดอกชงโคทองคำ” บนฐานหินอ่อนสีน้ำตาลแดง ให้กับฮ่องกง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการรวมประเทศ และการได้รับอิสรภาพของฮ่องกง โดยเรียกบริเวณที่ตั้งรูปปั้นดอกชงโคนี้ว่า “จัตุรัสดอกชงโคทองคำ (Golden Bauhinia Square)” ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญแห่งหนึ่งของฮ่องกง ดอกชงโคนั้นถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของฮ่องกงมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการส่งมอบคืนให้กับจีน เดิมมีรูปแบบเป็นดอกไม้สมมาตรที่วาดด้วยเส้นเดียวบนพื้นหลังสีแดง ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง ซึ่งรูปแบบของธงฮ่องกงในปัจจุบันคัดเลือกมาจากการประกวดออกแบบธงใหม่เมื่อปี 2530 ภายใต้แนวคิด"1 ประเทศ 2 ระบบ" อันหมายถึงสถานะของฮ่องกงที่มีอำนาจในการปกครองและบริหารจัดการกิจการภายในดินแดนของตนเอง ขณะที่ประชาชนฮ่องกงจะได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย แม้ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ก็ตาม ในการจัดประกวดครั้งนั้นมีผู้ส่งผลงานเข้ารับการคัดเลือกกว่า 7,000 แบบ ซึ่งหลายผลงานก็ถูกออกแบบในธีมของมังกรตามธงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง รูปแบบดาวหลายดวงตามธงของจีน รวมทั้งดอกชงโค โดยผลงานของผู้ได้รับคัดเลือกรอบสุดท้ายถูกส่งให้คณะกรรมการจากทั้งฮ่องกงและจีนเป็นผู้ตัดสิน แต่ก็ถูกปฏิเสธทั้งหมด กรรมการในการตัดสินการแข่งขัน 3 คน ได้แก่ เถา โฮ สถาปนิก, ฮง บิง-หวา นักออกแบบ และ วาน เหลา ช่างแกะสลัก จึงรับหน้าที่ออกแบบธงฮ่องกงแทน ท้ายที่สุดแล้ว ในปี พ.ศ.2533 รัฐบาลจีนมีมติเลือกผลงาน“ดอกชงโค” จากการออกแบบของ เถา โฮ สถาปนิกที่จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาเป็นธงประจำชาติฮ่องกงอย่างในปัจจุบัน โดยเปลี่ยนจากดอกชงโคแบบสมมาตรแบบเดิมมาเป็นดอกชงโคสีขาว 5 กลีบในแบบหมุนตามเข็มนาฬิกา ทั้งยังใช้สีแดงเฉดเดียวกับธงชาติจีนเป็นพื้นหลัง ในเว็บไซต์ของเขาเถา โฮ อธิบายความหมายของการออกแบบธงของเขาไว้อย่างชัดเจนว่า "ดอกไม้ไม่สมมาตรและรูปแบบของมันสื่อถึงการเคลื่อนไหว ชี้ให้เห็นถึงพลังแห่งประชาธิปไตยและเศรษฐกิจที่มีชีวิตชีวาของฮ่องกง" ขณะที่ "พื้นหลังสีแดงเปรียบเสมือนประเทศจีนและดาว 5 ดวง เป็นการสื่อถึงแนวคิดแห่ง '1 ประเทศ 2 ระบบ'" ฮ่องกง เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษนานถึง ๑๕๖ ปี หลังจากที่อังกฤษคืนอธิปไตยเหนือดินแดนฮ่องกงให้แก่จีนในวันครบรอบก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๙๗ (พ.ศ.๒๕๔๐) จีนก็ปกครองฮ่องกงด้วยระบอบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ตามที่ระบุในกฎหมายธรรมนูญของฮ่องกงหรือที่เรียกกันว่า กฎหมายเบื้องต้น (Basic Law) และรับประกันว่า ชาวฮ่องกงจะได้รับเสรีภาพและอิสระแห่งตุลาการแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมทั้งให้คำมั่นจะปฏิรูปการปกครองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย