ชาร์มกับความเชื่อ

ชาวไอยคุปต์หรือชาวอียิปต์โบราณเป็นผู้นิยมความสวยงาม หรูหรา และค่อนข้างพิถีพิถันในเรื่องการแต่งกาย ชายหญิงทุกชนชั้นยังนิยมแต่งเติมร่างกายด้วยเครื่องประดับนานาชนิดไม่ว่าจะเป็น แหวน ต่างหู กำไลข้อมือ และสร้อยคอ ซึ่งอาจทำจากไม้ เปลือกหอย หรือแร่ทองคำ แต่นอกจากเพื่อความสวยงามแล้วการใส่เครื่องประดับยังเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางสัญลักษณ์ตามคติความเชื่อในแบบเทวนิยม เช่นการห้อยวัตถุขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘ชาร์ม’ (Charm)เพื่อแสดงความศรัทธาต่อเหล่าเทพเจ้าอีกด้วย ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ชาร์ม หรือ จี้ประดับ มักทำมาจากเปลือกหอย กระดูกสัตว์ หรือดินเหนียว หลักจากนั้นเปลี่ยนเป็นอัญมณี ไม้ แร่หิน และแร่ทองคำ มีการพบเครื่องประดับชาร์มทำจากเปลือกหอยอายราว 75,000 ปีแถบทวีปแอฟริกา และชาร์มที่ทำจากงาช้างแมมมอธอายุราว 30,000 ปีที่ประเทศเยอรมณี นอกจากการประดับชาร์มเพื่อแสดงความศรัทธาต่อเทพเจ้าของชาวไอยคุปต์แล้ว ในยุคจักรวรรดิโรมันรุ่งเรืองชาวคริสก็มักจะมีชาร์มรูปปลาติดตัวไว้เสมอเพื่อแสดงถึงความเป็นคริสเตียน แม้แต่อัศวินในยุคกลางก็ยังห้อยชาร์มติดตัวเพื่อเป็นเครื่องรางคุ้มครองให้ปลอดภัยในยามออกศึกสงคราม จากการมีชาร์มเพื่อความเชื่อและความศรัทธามาสู่การประดับชาร์มเพื่อความสวยงาม โดยมีการพบสร้อยช้อมือชาร์มชิ้นแรกอายุราว 400-600 ปีก่อนคริสตกาล สวมใส่โดยชาวอัสซีเรีย บาบิโลเนีย เปอร์เซียและฮิตไทน์ แต่ที่การสวมชาร์มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็คือในยุคของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ พระองค์ทรงรักการสวมสร้อยข้อมือชาร์มมากและยังเป็นผู้ที่ริเริ่มแฟชั่นชาร์มในยุโรปอีกด้วย พระองค์ทรงมีสร้อยชาร์มจำนวนมากแต่หนึ่งในสร้อยชาร์มเส้นโปรดของพระองค์คือ เส้นที่เจ้าชายอัลเบิร์ตมอบให้เป็นของขวัญในปีค.ศ.1840 เป็นสร้อยข้อมือประดับชาร์มรูปหัวใจ 9 ดวงเคลือบด้วยสีต่างๆไม่ซ้ำกัน 9 สี ซึ่งหัวใจแต่ละดวงเป็นตัวแทนของทั้งสองพระองค์ พระโอรส และพระธิดา หัวใจนี้สามารถเปิดออกได้ ด้านหนึ่งแกะสลักพระนามและวันพระสูติอีกด้านใส่เส้นพระเกศาของแต่ละพระองค์ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียมักจะมอบชาร์มเป็นของขวัญแก่เชื้อพระวงศ์และพระสหายตามโอกาสพิเศษต่างๆเสมอๆทำให้สร้อยข้อมือชาร์มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากนั้นเป็นต้นมา