ว่านดอกทอง เรียกอีกชื่อหนึ่ง ว่านมหาเสน่ห์ เป็นว่านที่คนโบราณนิยมปลูก และนำมาใช้ประโยชน์ด้านเมตตามหานิยม และมหาเสน่ห์ รวมถึงการนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค นอกจากนั้น ยังจัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับสำหรับปลูกตามแปลงจัดสวนหรือปลูกในกระถางเพื่อชมใบ และดอก ที่พบในไทยมีหลายสายพันธุ์ มักเรียกชื่อต่างๆกันเช่น ว่านราคะ ว่านดอกทองกระเจา ว่านดอกทองตัวเมีย ว่านดินสอฤษี ว่านมหาเสน่ห์ เป็นต้น ว่านดอกทอง เป็นไม้มงคล เป็นว่านมหาเสน่ห์ มหานิยม เมื่อดอกบานที่ให้กลิ่นหอม หากชายหรือหญิงได้กลิ่นจะทำให้กระตุ้นความกำหนัดทางเพศได้ จึงเรียก “ว่านมหาเสน่ห์” ผู้ชายไทยในสมัยโบราณจะใช้ว่านนี้หุงกับน้ำมันจันทน์ หรือบดรวมกับสีผึ้ง ใช้ทาตัวหรือใช้สีปาก เชื่อว่าเมื่อพบผู้หญิงจะทำให้หญิงรัก และคล้อยตาม การปลูกว่านดอกทองตามหน้าบ้านที่ร้านค้า เชื่อว่าจะทำให้ค้าขายดี เป็นมหานิยมเรียกคนเข้าร้าน เจรจาซื้อขายง่าย การปลูกไว้ในบ้านมีความเชื่อเรื่องเมตตามหานิยมทำให้ผู้คนเคารพ รักใคร่ แต่บางตำราก็ว่าไม่ควรปลูกไว้ในบ้าน เพราะอาจทำให้สามีหรือภรรยาเกิดความนอกใจกันได้ ว่านดอกทอง ยังนิยมนำมาทำพระเครื่อง โดยนำส่วนดอก ใบ และเหง้า มาเป็นส่วนผสม นอกจากนี้ส่วนของดอก และเหง้ายังนิยมนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย นำมันนวด ใช้ทาผม ทาผิว ทาริมฝีปาก เป็นน้ำมันมหาเสน่ห์อีกด้วย ว่านดอกทอง นั้นมี 2 ชนิด คือ ว่านดอกทองตัวผู้และว่านดอกทองตัวเมีย ซึ่งจะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์แตกต่างกันเล็กน้อย เช่น สีของใบ และสีเนื้อของหัวว่าน โดยว่านดอกทองตัวเมียนั้นจะมีฤทธิ์แรงกว่าตัวผู้ ดอกมีสีขาว แต้มด้วยสีเหลืองส่วนว่านดอกทองตัวผู้ ดอกจะเป็นสีเหลือง โดยจะออกดอกในช่วงฤดูร้อนต่อเนื่องไปจนถึงฤดูฝน กลิ่นของดอกว่านทั้งสองชนิด จะมีกลิ่นหอมเย็นและคาวคล้ายกับกลิ่นของ "อสุจิ" และเชื่อว่าหากใครได้สูดกลิ่นของดอกว่านนี้ จะกระตุ้นความต้องการทางเพศได้ ในสมัยโบราณนั้นเชื่อถือกันมาก สำหรับผู้ที่ปลูกว่านชนิดนี้ มักจะเก็บดอกก่อนที่จะบาน เพราะเชื่อว่าหากผู้ใดได้กลิ่นได้สัมผัสดอกว่านแล้วจะเกิดกามราคะ ทำให้เกิดพลังทางเพศที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีเพศ จึงเป็นที่มาของชื่อว่านว่า "ว่านดอกทอง" ว่านดอกทอง จัดเป็นว่านโบราณหายากและใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว ในปัจจุบันว่านดอกทองแท้นั้นหายากยิ่ง ผู้รู้มักไม่เปิดเผย เพราะเกรงว่าจะมีผู้นำไปใช้ในทางไม่ดี โดยอาจสามารถพบว่านชนิดนี้ได้ทางภาคตะวันตก ภาคเหนือ อย่างเช่น ในจังหวัดกาญจนบุรี ลำปาง และตาก