ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2562นี้ จะมีการริ้วขบวนเรือตามโบราณราชประเพณีโดยมีเรือพระราชพิธี 52 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือพระที่นั่งที่มีความสำคัญยิ่ง 4 ลำคือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โขนเรือแกะสลักเป็นรูปหงส์ มีพู่ห้อยที่ตรงปลายพู่เป็นแก้วผลึก ลำตัว เรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทอง ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียก ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เรือมีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร น้ำหนัก 15 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน จัดเป็นเรื่องพระที่นั่งที่มีความสำคัญและสง่างามที่สุดในขบวนเรือพระราชพิธี นอกจากนี้ องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร (The World Ship Trust Maritime Heritage) ยังมอบรางวัลมรดกทางทะเลขององค์กรเรือโลก แก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยคณะกรรมการขององค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักรได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลโลกประจําปีพ.ศ.2535 ด้วย เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มีโขนเรือเป็นรูปพญานาค 7 เศียร ลงรักปิดทองประดับกระจก กลางลำเรือเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้าพระกฐิน สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 และสร้างขึ้นอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 มีความยาว 44.85 เมตร ใช้ฝีพาย 54 คน ในภาษาสันฤกต คำว่า อนนฺตะ หมายถึง ไม่สิ้นสุดหรือความเป็นนิรันดร นาคะ หมายถึง นาคหรืองู ส่วนคำว่า ราชะ แปลว่า เจ้านายหรือพระราชา ดังนั้นอนันตะ จึงหมายถึง ราชาแห่งนาคหรืองูทั้งหลาย เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ หัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปนาคตัวเล็กจำนวนมาก ภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง เรือมีความยาว 45.67 เมตร ใช้ฝีพาย 61 คน กลางลำเรือมีราชบัลลังก์กัญญา ใช้เป็นที่ประทับเปลื้องเครื่อง หรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระเจ้าอยู่หัว ก่อนเสด็จขึ้นหรือลงเรือพระที่นั่งอีกลำ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 สร้างขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 โดยกองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร และเนื่องจากชื่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณมีมาแล้วตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 จึงเติมคำว่า “รัชกาลที่ 9” เพื่อแสดงว่าเรือลำนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 ขบวนพยุหยาตราชลมารคในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เริ่มเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2394 เพื่อให้ราษฎรได้ชื่นชมพระบารมีกษัตริย์พระองค์ใหม่ และจะได้เป็นพระเกียรติยศไปภายหน้าพระราชพิธีครั้งนั้นไม่เพียงจะยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ยังเป็นการเริ่มต้นธรรมเนียมปฏิบัติในรัชกาลต่อ ๆ มาด้วย โดยการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคในครั้งนั้น มีเรือในขบวนถึง 269 ลำ มีเรือนอกขบวนที่เข้าร่วมด้วยกว่า 50 ลำ และมีจำนวนฝีพายทั้งหมดกว่า 10,000 คน โดยเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยทางชลมารครอบพระนคร เริ่มจากท่าราชวรดิษฐ์ เข้าคลองรอบพระนครไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดอรุณราชวราราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับยังพระบรมมหาราชวัง การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกห่างหายไปนานกว่าร้อยปีเพราะในสมัยรัชกาลที่ 8 ไม่ได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขณะที่ในสมัยรัชกาลที่ 9 นั้น ไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราชลมารคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แม้ว่าจะมีขบวนพยุหยาตราชลมารคหลายครั้งก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ระยะห่างจากการจัดพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2469 จึงห่างจากพระราชพิธีในในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ในสมัยรัชกาลที่10 ถึง 93 ปีเลยทีเดียว