"วาสนาลื้อสูงมาก ลื้อจะได้เป็นกษัตริย์--" น้ำเสียงเขาขาดเป็นห้วงๆ และเน้นคำว่ากษัตริย์ พร้อมกับพูดซ้ำๆว่า"ลื้อจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองเมืองนี้" จากนั้นก็ทรุดตัวลงนั่ง ยกมือขึ้นไหว้ท่วมหัวต่อหน้าสุภาพบุรุษที่ยืนอยู่เบื้องหน้า ด้วยศรัทธาและบารมีอันแก่กล้า ประเทศไทยในสมัยนั้นมีสำนักโหรจีนชื่อดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า "จีนทองหยิน" ว่ากันว่าวิธีการดูดวงชะตาของโหรจีนผู้นี้แตกต่างจากโหรทั่วไปในพระนคร คือแทนที่จะใช้วิธีลงเลขคูณหารตรวจปูมชาตาบนกระดานของโหรก็ใช้เพียงแค่สอบถามวันเดือนปีเกิดเท่านั้น และความแม่นยำก็เลื่องลือจนทำให้เจ้าขุนมูลนายไปจนถึงจ้าวนายและเชื้อพระวงศ์จากวังต่างก็พากันยกย่องนิยมนับถือโหรจีนผู้นี้ อยู่มาวันหนึ่งจีนทองหยินได้มีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะผู้หนึ่งที่เขาไม่เคยพบเจอมาก่อน เป็นบุรุษหนุ่มร่างเล็กแบบบาง หนวดแหย็มประทับเหนือริมฝีปากประปราย ยื่นวันเดือนปีเกิด"วันพุธ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเส็ง" ให้โหรทองหยินช่วงพิเคราะห์ดวงชะตาให้ เมื่อโหรทองหยินเพ่งดวงหน้านั้นอยู่ชั่วขณะหนึ่ง พลางบอกให้ลุกขึ้นเดินกลับไปกลับมาโหรเอกมองดูท่าทางกิริยาวิธีการเดินของเขาอย่างสนใจ และในทันทีที่สุภาพบุรุษเจ้าของดวงชาตาทรุดตัวลงตามเดิม ฉับพลันนั้นโหรเอกก็เบิกตาโพลง ตลึงและงงงวย เขาลอดสายตาเพ่งออกมานอกแว่น จรดจ้องอยู่กับดวงหน้าของอาคันทุกะแปลกหน้า ผู้ซึ่งไม่เคยเห็นมาเลยนับแต่มาเหยียบเมืองไทย เหมือนกับจะไม่เชื่อตัวเองว่า สุภาพบุรุษที่นั่งอยู่เฉพาะหน้าตนนั้น จะมีดวงชาตากำเนิดสูงละลิ่วอย่างเทพเจ้าที่จุติลงมาเพื่อปกครองแผ่นดินไทย เพื่อเป็นจ้าวชีวิตของคนไทยทั้งชาตินี้ พลางระล่ำระลักว่า "วาสนาลื้อสูงมาก ลื้อจะได้เป็นกษัตริย์--" ชายสุภาพบุรุษเพ่งดูใบหน้าสวนสายตาของทองหยินออกไป พลางหัวเราะอยู่ในลำคอ เป็นการหัวเราะที่แสดงความขบขันคล้ายๆ กับจะตั้งคำถามตัวเองว่า"นี่น่ะหรือ ทองหยิน โหรเอกที่คนเลื่องลือกันทั้งเมือง นี่น่ะหรือที่ใครๆ โจษจรรย์กันว่าทำนายทายทักปูมชาตาแม่นยำนัก" แล้วก็หัวเราะให้กับอาการอันงกงันสั่นเทาของทองหยินอีกครั้ง แล้วชำระค่าตอบแทนเมื่ออำลาจากทองหยิน ขับรถยนต์กลับออกไป สุภาพบุรุษคนนั้นไม่ได้เหลียวกลับมาที่สำนักโหรเอกทองหยินอีก จึงไม่เห็นร่างอันสั่นเทาของทองหยิน ที่แง้มประตูห้องแถวเก่าๆ ตรงสี่แยกมองตามรถยนต์ที่ขับออกไป อาคันตุกะหนุ่มผู้นั้น ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่๗ แห่งราชวงศ์จักรี นามพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มา: หนังสือเรื่องบุกบรมพิมาน โดย "แหลมสน" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สหกิจ, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์-หากสันนิษฐานได้ว่าราวๆ ปี ๒๔๙๒-๒๔๙๓ "แหลมสน" จะเป็นนามปากกาของผู้ใดนั้น ไม่อาจระบุได้ ที่มา : อัษฎางค์ ยมนาค