พูดคุยกับทายาทรุ่นที่ 3 แห่ง "บ้านแหวนกล เมืองจันท์" กับภูมิปัญญาบรรพบุรุษ "แหวนกลไก" เครื่องประดับแห่งปัญญา ที่กำลังใกล้จะสูญหาย ใครต่างก็รู้ว่าเกมอย่างรูบิคหรือพัซเซิล ต่างก็เป็นเกมที่ผู้เล่นต้องใช้ทั้งทักษะและมันสมอง ในการพยายามเอาชนะกลไกของเกมให้ได้ แต่ใครจะรู้ว่าในประเทศไทยเองก็มีเกมฝึกสมาธิที่แฝงอยู่ในรูปลักษณ์ของเครื่องประดับอยู่ด้วย เริ่มจากก้านเส้นบางๆ ทั้งสี่ มาเกาะเกี่ยวคล้องรวมกันเป็นหนึ่ง สามารถถอดแยกออกจากกัน และประกอบกลับคืนเป็นวงเดียวได้ ซึ่งเรากำลังพูดถึง "แหวนกลไก" เครื่องประดับแห่งปัญญา ภูมิปัญญาแห่งเมืองจันทบุรีที่มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แหวนกล หรือ แหวนกลไก คือเครื่องประดับพิเศษจากภูมิปัญญาโบราณ ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันแหวนกลไกถือเป็นเครื่องประดับที่ขึ้นชื่อของจังหวัดจันทบุรี หรือบางครั้งอาจรู้จักกัน ในชื่อของรูปลักษณ์ของแหวน เช่น แหวนปู แหวนปลา ที่สืบทอดอยู่เฉพาะครอบครัว "ภูมิภักดิ์" แห่ง "บ้านแหวนกล เมืองจันท์" เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่เครื่องประดับแห่งปัญญานี้ กำลังอยู่ในแนวโน้มที่ใกล้สูญหายเต็มที ซึ่งทายาทผู้สืบทอดแหวนกลไกรุ่นที่ 3 อย่าง "นายชูเกียรติ เนียมทอง" ชายหนุ่มวัย 43 ปี ผู้ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) เชิดชูเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 61 ในประเภทงานเครื่องโลหะ ก็มองเห็นปัญหานี้เช่นกัน และในฐานะของช่างทำแหวนกลไก ในวันนี้ก็อาจเป็นรุ่นสุดท้ายแล้วก็เป็นได้ เพราะแทบจะหาคนที่เห็นคุณค่า มีใจรักที่จะเข้ามาสืบสานต่อไม่มีเลยในวันนี้ เขาเองก็อยากจะถ่ายทอดความรู้ที่มีออกไป เพื่อไม่ให้งานที่เขารักต้องสูญหายไปตามกาลเวลา "ถ้าหมดรุ่นผมก็น่าจะไม่เหลือแล้ว" ชูเกียรติ เล่า "งานที่ทำอยู่ในตอนนี้ยังไม่มีใครมาสานต่อรูปแบบงานเลยครับ จริงๆ ตอนนี้เราเองก็พยายามเสาะหาคนมารับช่วงงานนี้ต่อเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเก่งหรือมีฝีมือก็ได้ แต่ขอให้มีใจรักในอาชีพงานหัตถกรรม เพราะไม่มีใจรักในอาชีพ ต่อให้เก่งแค่ไหนสุดท้ายก็ทิ้งอยู่ดี ทุกวันนี้ตัวผมอยู่ได้ก็เพราะความรักในอาชีพที่คนรุ่นเก่าๆ มอบให้มา เราจึงอยากเก็บรักษา และหาคนที่มีทัศนคติในแบบเดียวกัน มาสืบทอดอาชีพนี้ เพื่อไม่ให้แหวนกลไกต้องหายไป" ชูเกียรติ ยังบอกอีกว่าปัจจุบันการทำแหวนกลไก ได้กลายเป็นธุรกิจๆ หนึ่งไปแล้ว การสร้างแหวนก็มีปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาประกอบ อย่างเช่น ค่าวัตถุดิบ อีกทั้งในธุรกิจตลาดเครื่องประดับก็ถือว่ามีการแข่งขันสูง ด้วยความที่ต้องเน้นคุณภาพ จึงทำให้ช่างไม่สามารถผลิตชิ้นงานได้เท่าที่ควร อย่างมากสุดเดือนละ 2-3 วง ก็ถือว่าได้เต็มที่แล้ว นี่อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ไม่ได้สนใจในงานแหวนกลไกจริงๆ แต่อาจมองไปที่เครื่องประดับอื่น ที่ดูเข้าถึงได้ง่ายกว่า "จริงๆ แล้ว ที่บ้านแหวนกลก็เปิดพื้นที่ให้นักเรียนที่เรียนในเรื่องอัญมณีเข้ามาศึกษาวิจัยฟรีอยู่ต่อเนื่อง เราอยากให้พวกเขาได้ความรู้ในการทำแหวน และเรายังอยากให้พวกเขาได้ซึมซับอารมณ์ของการเป็นช่างทำแหวนด้วย อยากให้พวกเขาเห็นว่างานแบบนี้เป็นอย่างไร มันไม่ได้ยากอย่างที่เข้าใจ ไม่ได้น่าเบื่อ และมันสนุกกว่าที่คิด เพียงแต่เมื่อเราถามเด็กที่มาฝึกเรียนว่าจะเอาเป็นอาชีพไหม ก็ไม่มีคำตอบ ซึ่งเราเองก็รู้ว่ามันเป็นคำตอบในเบื้องต้นแล้ว ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้สนใจกับอาชีพนี้จริงๆ เราเองก็ไม่คาดคั้น เพราะช่างต้องอยู่กับมันตลอด ถ้าหากไม่ได้รักในงานจริงๆ แปบเดียวเดี๋ยวเขาก็เบื่อ" "ในมุมมองของเรา แหวนกลไกถือเป็นงานหัตถกรรมที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่มากนะ เพราะพวกเขาสามารถใช้ไอเดียครีเอทงานใหม่ๆ ได้ตลอด ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนเราเป๊ะๆ ไม่ต้องทำงานเป็นเส้นตรง แต่การจะเจอกับคนรุ่นใหม่ที่รักในงานนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เราเลยเลือกเปิดบ้านแหวนกล อาศัยหว่านเมล็ดพันธุ์อาชีพช่างไปเรื่อยๆ อาศัยถ่ายทอดงานจากวิถีชีวิตคนรุ่นก่อน เผื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะมาสืบสานหรือมาสืบต่ออาชีพที่มันใกล้จะหมดไป เพราะอย่างน้อยมันก็ยังมีโอกาสที่จะเจอกับคนรุ่นใหม่ที่จะมาต่อยอดงานอยู่ แต่ถ้าเราไม่ได้หว่านอะไรไปเลย ไม่ได้ทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ชอบหรืออยากทำอาชีพนี้เลย สุดท้ายมันก็จบเหมือนกัน " ชูเกียรติ บอกทิ้งท้าย