ในภาวะที่ราคาทองคำผันผวนหนักอย่างในปัจจุบัน ร้านทองตู้แดงมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้า-ออกจำนวนมากในแต่ละวัน หลายคนจึงสงสัยว่าร้านทองเหล่านี้มีรายได้มากน้อยแค่ไหน และต้องเสียรายจ่ายอะไรบ้างในการทำธุรกิจร้านทองตู้แดง รายได้ของ"ร้านทองตู้แดง" หลักๆมาจากการขายทองคำรูปพรรณและทองคำแท่ง ทั้งขายให้ลูกค้าทั่วไปที่มาซื้อทอง และขายทองรูปพรรณเก่าให้ผู้ค้าส่งทองคำหรือผู้ผลิต รวมถึงรายได้จากค่ากำเหน็จ หรือค่าผลิตทองคำรูปพรรณ ที่บวกค่าการตลาดของผู้ประกอบการร้านทองไปอีกทอดหนึ่ง เพื่อให้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายอื่นๆนอกเหนือจากค่าสินค้า เช่น ค่าเดินทาง ดังนั้นราคาขายทองรูปพรรณ หนัก 1 บาท จะเท่ากับราคาขายทองคำแท่ง หนัก 1 บาท + ค่ากำเหน็จ โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2559 ราคาค่ากำเหน็จทองรูปพรรณขั้นต่ำ ซึ่งร้านทองคำใช้เป็นราคาอ้างอิงคือบาทละ 500 บาท นอกจากนี้กิจการร้านทองอาจมีการประกอบธุรกิจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การรับขายฝาก (คล้ายกับการจำนำ) โดยมีข้อตกลงว่า ผู้ขายมีสิทธิไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเวลาตามสัญญา โดยจะบวกค่าตอบแทนที่คำนวณตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญานั้นๆ รวมถึงการขายเครื่องประดับ สินค้าที่เกี่ยวข้อง และการให้บริการอื่นๆ อาทิ รับซ่อมทอง การใส่กรอบพระ รับจองวัตถุมงคล ชุบทอง เป็นต้น ผู้ประกอบการร้านทองบางร้านประกอบกิจการอื่นๆที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เช่นโรงรับจำนำ การได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงจำนำตาม พ.ร.บ.โรงรับจำนำจะทำให้มีรายได้จากดอกเบี้ย ที่มีคนนำทองรูปพรรณมาเป็นประกันเพื่อชำระหนี้ และบางรายอาจมีรายได้จากการให้กู้ยืมเงินและให้เช่าอาคารเพิ่มเติมอีกด้วย ส่วนรายจ่ายที่ร้านทองต้องแบกรับนั้น มาจากหลายส่วนเช่น ค่าสินค้าหรือค่าทอง ค่าจ้างช่างทำทอง ประกันภัยร้านทอง เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าขนส่ง ภาษีอากรของธุรกิจร้านทองทั้งภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ค่าจัดทำบัญชี เป็นต้น ร้านทองใหญ่ๆมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายปีละหลายร้อยล้านบาท เช่น ห้างทองตั้งโต๊ะกัง ห้างขายทองทองใบเยาวราช ห้างทองฮั่วเซ่งเฮง ซึ่งร้านทองเหล่านี้รายได้จากธุรกิจอื่นๆด้วยนอกเหนือจากการขายทองหน้าร้าน เช่น ดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นโบรกเกอร์ซื้อขายกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำ เป็นต้น แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วก็เหลือกำไรสุทธิไม่มากนัก ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์