ในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลงอย่างในปัจจุบัน สินค้าหลายประเภทได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเครื่องประดับที่จัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ที่ผ่านมาจึงเห็นตัวเลขความต้องการเครื่องประดับแท้ลดลงไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทอง หรืออัญมณี โดยผู้บริโภคได้หันมาให้ความสนใจกับเครื่องประดับเทียม หรือ Costume Jewellery หรือ Fashion Jewellery มากขึ้น จึงเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการเครื่องประดับเทียมในการขยายตลาด จากรายงานของ Alliedmarketresearch ระบุว่า ในปี 2019 ตลาดเครื่องประดับเทียมของโลกมีมูลค่า 32.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งผู้หญิงมีส่วนแบ่งกว่าครึ่งหนึ่งของการบริโภคเครื่องประดับเทียมทั้งหมด และคาดว่ามูลค่าเครื่องประดับเทียมของโลกจะเพิ่มเป็น 59.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2027 โดยระหว่างปี 2020-2027 เครื่องประดับเทียมจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.8% ในปี 2019 สร้อยคอและสร้อยข้อมือมีสัดส่วนการบริโภครวมกันราว 41.4% และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อีกทั้งยังคาดว่าแหวนจะเป็นสินค้าที่เติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มเครื่องประดับเทียม โดยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.9% ในระหว่างปี 2020-2027 สำหรับตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับเทียมสำคัญของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดเดิม ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่อย่าง จีน บราซิล และอินเดีย ก็มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ และผู้หญิงทำงาน นอกจากภาวะเศรษฐกิจและราคาโลหะมีค่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อเครื่องประดับเทียมแล้ว เซเล็บคนดัง หรือนักแสดงดังจากฮอลลีวูดและบอลลีวูด ก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องประดับเทียมของคนทั่วไปเป็นอย่างมาก จากผลการสำรวจผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ทรงอิทธิพลเหล่านี้มีเป็นผู้สร้างยอดขายและมีส่วนช่วยโน้มน้าวในการตัดสินใจของผู้บริโภคได้ถึง 30% ในการสำรวจผู้หญิงเกือบ 1,500 คน พบว่า กว่า 86% ให้ความไว้วางใจแก่การตัดสินใจของผู้ทรงอิทธิพล (Influencers)เหล่านั้น ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเทียมใน 10 อันดับแรกของโลกมานานนับทศวรรษ และล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563 ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกในอันดับที่ 4 ของโลก ด้วยสัดส่วนราว 5.61% ของมูลค่าส่งออกเครื่องประดับเทียมในตลาดโลก หรือมีมูลค่าส่งออก 147 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 1.22% ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม สำหรับตลาดส่งออกหลักใน 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และฮ่องกง ตามลำดับ โดยมีจีนหรืออินเดีย เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เพราะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ข้อมูล :สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ