การทำธุรกิจเครื่องประดับอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ปัจจุบันผู้บริโภคในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรปให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าใดๆต้องสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาที่ไปของสินค้านั้นๆได้ โดยเฉพาะซื้อเครื่องประดับทองคำและอัญมณี ปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องประดับรายย่อยจำนวนมากให้ความสำคัญกับการจัดหาวัตถุดิบจากเหมืองที่สามารถติดตามตรวจสอบที่มาได้ผ่านองค์กรต่างๆ เช่น Anna Loucah ผู้ขายเครื่องประดับจากสหราชอาณาจักรใช้ทองส่วนใหญ่จากเหมืองขนาดเล็กที่ติดตามข้อมูลได้ในเปรู ซึ่งเป็นเหมืองที่ได้รับการรับรองจากองค์กร Fairtrade ขณะเดียวกันบริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน เช่น Tiffany and Co. ก็ใช้ทองซึ่งสามารถติดตามข้อมูลย้อนกลับไปยังเหมืองต้นกำเนิดได้ ผู้ผลิตเครื่องประดับจากสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Chopard และผู้ผลิตเครื่องประดับจากฝรั่งเศสอย่าง Cartier ก็ใช้ทองคำซึ่งบางส่วนสามารถติดตามข้อมูลกลับไปถึงเหมืองได้ และผู้ถลุงทองก็สามารถให้บริการถลุงทองคำแบบแยกส่วนเพื่อให้ทองคำยังคงระบุแหล่งที่มาได้ โดย Chopard นั้นหาทองคำบางส่วนจากเหมืองที่ได้รับการรับรองจากองค์กร Fairmined ในละตินอเมริกา ในส่วนของการจัดหาวัตถุดิบเพชรนั้น แบรนด์ต่างๆ เช่น Forevermark ก็ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเพชรในตลาดโลก เพราะมีการรับประกันแหล่งที่มาที่ถูกต้องตามหลัก Kimberley Process และสนับสนุนให้ผู้หญิงได้ก้าวหน้าทางอาชีพการงาน ทั้งในฐานะคนงานเหมือง นักธรณีวิทยา และวิศวกรในประเทศผู้จัดหาวัตถุดิบเพชร นอกจากนี้ผู้ประกอบการหลายแห่งยังพยายาม หลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง โดยการหันมาใช้ทองคำและอัญมณีรีไซเคิลแทน ซึ่งผู้ค้าที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ คือ แบรนด์ Hoover and Strong ในตลาดสหรัฐฯ ที่ได้มีการนำเสนอชุดเครื่องประดับ Harmony Metals and Gems และได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี หรือการหันมาใช้เพชรและพลอยสีสังเคราห์ (Lab Grown Diamonds and Colored Gemstones) ก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน