การพัฒนาในอุตสาหกรรมเครื่องประดับทองของอินเดีย

อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลกด้วยประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 5,000 ปี โดยการผลิตเครื่องประดับ ทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับเพชร เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมในครัวเรือนซึ่งอาศัยการผลิตแบบดั้งเดิมและแรงงานฝีมือเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบศิลปะอินเดีย ซึ่งจะเป็นเครื่องประดับชิ้นใหญ่ น้ำหนักมาก เน้นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ต่อมามีการนำเทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม ทำให้ได้เครื่องประดับที่มีรูปแบบทันสมัย น้ำหนักเบา และสามารถผลิตได้ปริมาณมากขึ้น อินเดียจึงสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดโลกได้ จนกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงินรายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน สำหรับแหล่งผลิตเครื่องประดับเงินสำคัญจะอยู่ในกรุงนิวเดลี (New Delhi) เมืองสุรัต (Surat) โกลกาตา (Kolkata) มุมไบ (Mumbai) และจัยปูร์ (Jaipur) ส่วนแหล่งผลิตเครื่องประดับทองสำคัญจะอยู่ในเมืองโกลกาตา ตฤศศูร (Thrissur) และมุมไบ ในปี 2555 อินเดียส่งออกเครื่องประดับทองเป็นอันดับ 2 ของโลก มีสัดส่วนส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 15.26 ในขณะที่จีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วนร้อยละ 23.94 และสัดส่วนการส่งออกของจีนยิ่งทิ้งห่างอินเดียมากขึ้นในปี 2556 เนื่องจากรัฐบาลอินเดียจำกัดการนำเข้าทองคำเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยการเพิ่มภาษีนำเข้าทองคำจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 8 และในปี 2557 ก็ได้ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 10 จึงทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอินเดียลดลงเพราะต้นทุนเครื่องประดับทองที่เพิ่มสูงจากการจำกัดการนำเข้าทองคำ ในขณะที่จีนมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างต่ำ และฝีมือการผลิตเครื่องประดับทองที่ตอบสนองต่อตลาดระดับล่างจนถึงบน จึงทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อสินค้าจากจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก อินเดียเริ่มกลับมาส่งออกเครื่องประดับทองเพิ่มขึ้นในปี 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากรัฐบาลออกข้อบังคับให้นำทองคำร้อยละ 20 ของการนำเข้าทั้งหมดไปผลิตเป็นเครื่องประดับเพื่อส่งออก อีกทั้งผู้ประกอบการเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต มีการอบรมเพิ่มทักษะการออกแบบสินค้าให้กับช่างฝีมือเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าต่างชาติ นำเทคโนโลยี CAD และ CAM มาช่วยในการออกแบบเพื่อเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบเครื่องประดับทองมากขึ้น รวมถึงการเน้นสร้างแบรนด์ส่งออก และการประทับตรา Hallmark บนเครื่องประดับทองเพื่อรับรองค่าความบริสุทธิ์ของทองคำ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังทีแรงงานที่มีฝีมือและราคาไม่สูงมากทำให้ราคาต่อหน่วยของเครื่องประดับทองสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ จากสถิติ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2563 อินเดียเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับทองเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่หากพิจารณาการส่งออกไปยังตลาดหลักของโลกพบว่า อินเดียเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับทองเป็นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 4 ในกลุ่มสหภาพยุโรปด้วย ข้อมูล :GIT