ทองคำที่ซื้อขายกันตลาดโลกมาจากไหน

ปริมาณทองคำในตลาดโลกมาจาก 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผลผลิตจากเหมืองแร่ จากธนาคารกลาง จากเศษทองคำเก่าที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ จากการขายจากหน่วยงานภาครัฐ และการขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิต ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าอุปทานของทองคำ (Gold Supply) 1) ผลผลิตจากเหมืองแร่ (Mine Production) ปัจจุบันผลผลิตทองคำจากเหมืองแร่เป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่ออุปทานของทองคำมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณทองคำในตลาดแต่ละปี ทั้งนี้ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีการผลิตทองคำออกสู่ตลาดโลกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 14 ของปริมาณการผลิตทั่วโลก รองลงมาคือ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย กลุ่มลาตินอเมริกา จีน รัสเซีย เปรู ฯลฯ ตามลำดับ ซึ่งตั้งแต่ปี1990 เหมืองทองทั่วโลกมีผลผลิตทองคำรวมกันทั้งหมดประมาณ 2,500 ตันต่อปี 2) เศษทองคำเก่าที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ (Recycled Gold) เป็นทองคำจากผลิตภัณฑ์เก่าที่ถูกแปรรูปแล้วและนำมาสกัดใหม่ในรูปทองคำแท่ง มีบทบาทสำคัญต่อกลไกราคาทองคำ รองจากผลผลิตจากเหมืองแร่ และทำให้ราคาทองคำมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งอุปทานเศษทองนี้ ส่วนมากขึ้นกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและราคาทองคำ โดยจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซา หรือหลังจากช่วงที่ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น 3) การขายทองคำจากหน่วยงานภาครัฐ (Official Sector Sales) ปัจจุบันธนาคารกลาง และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ทั้งหมดกว่า 110 องค์กร ถือครองทองคำในรูปของเงินทุนสำรองรวมกันประมาณร้อยละ 25 ของปริมาณทองคำทั้งหมดที่มีในโลก การสำรองทองคำของธนาคารกลางแต่ละแห่ง ขึ้นอยู่กับนโยบายเฉพาะของแต่ละประเทศ โดยผู้ถือครองทองคำรายใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกลางของประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ จะถือการครองทองคำคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของทุนสำรองของประเทศโดยเฉลี่ย นอกจากนี้ธนาคารกลางยังอาจทำการขายทองคำออกสู่ตลาด โดยมีข้อตกลงในการขายทองคำภายใต้ข้อกำหนดของ Central BankGold Agreement (GBGA) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารกลางขายได้ไม่เกิน 500 ตันต่อปี 4) การขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิต (Net Producer Hedging) บริษัทเหมืองทองสามารถจะทำการขายทองล่วงหน้าในตลาดได้ เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านรายได้จากความผันผวนของราคาทองคำ โดยทั่วไป เมื่อบริษัทเหมืองทองทำการขายทองล่วงหน้า คู่ค้าของบริษัทเหมืองทองจะทำธุรกรรมยืมทองคำจำนวนเดียวกันจากผู้ครอบครองทองรายอื่น ซึ่งตามปกติจะเป็นธนาคารกลาง โดยนำทองที่ยืมมาไปขายในราคาตลาด แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทองคำไปลงทุนเพื่อให้ได้ดอกผลเพียงพอสำหรับการรับส่งมอบทองคำและค่าใช้จ่ายในการยืมทองคำ เมื่อถึงกำหนดส่งมอบทองคำตามสัญญา บริษัทเหมืองทองจะส่งมอบทองคำให้กับคู่ค้าในราคาตามที่ตกลงกันไว้ ทางคู่ค้าก็จะนำทองคำที่รับมอบมาส่งคืนให้กับผู้ที่ให้ยืมมาพร้อมค่าธรรมเนียมการกู้ยืม ทั้งนี้อุปทานของทองคำ (Gold Supply) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการขึ้นลงของราคาทองคำ คือถ้าหากมีความต้องการซื้อทองคำสูง จะส่งผลให้ราคาทองสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีความต้องการซื้อทองต่ำ ราคาทองก็จะต่ำลงด้วยเช่นกัน