ไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์มายาวนาน โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปีพ.ศ. 2376 จากการทำสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โดยในปีนั้น ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ๊กสัน (Andrew Jackson)ของสหรัฐฯได้ส่งเอกอัครราชทูตเดินทางมายังกรุงเทพฯ พร้อมทั้งนำพระแสงดาบทองคำมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย พระแสงดาบนี้ทั้งฝักและด้ามทองคำทำจากทองคำสลักรูปช้างและนกอินทรี แญเป็นสัญลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาและไทย โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานของพื้นเมืองหลายอย่างเป็นของตอบแทน เช่น งาช้าง ดีบุก เนื้อไม้ และกำยาน เป็นต้น โดยนายรอเบิตส์ (Edmund Roberts) ผู้นำนำดาบทองคำมาถวายนี้ถือเป็นเอกอัครราชทูตคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่เดินทางมาประเทศไทย โดยมีภารกิจสำคัญคือการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาทางการค้ากับไทย เช่นเดียวกับที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาและข้อตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรเมื่อ ปี 2369 การจัดส่งคณะทูตสหรัฐฯ มายังไทยแสดงให้เห็นถึงความสนใจของสหรัฐฯ ที่จะติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่ในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่ได้มีชาติตะวันตกอื่นๆ เช่น โปรตุเกส และสหราชอาณาจักร ได้เข้ามาค้าขายกับไทยอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ไทยและสหรัฐฯ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 2376 อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนหน้านั้นปรากฏหลักฐานการติดต่อระหว่างทั้งสองประเทศตั้งแต่ต้น สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีเรือกำปั่นของชาวสหรัฐฯ ลำแรก โดยมีกัปตันแฮน (Captain Han) เป็นนายเรือได้แล่นเรือบรรทุกสินค้าผ่านลำน้ำเจ้าพระยาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปี 2364 หรือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ไม่มีความต่อเนื่องเพราะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลกัน และสหรัฐฯ ไม่ค่อยความสนใจหรือมีผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ โดยสหรัฐฯ มีสถานกงสุลเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ที่ปัตตาเวีย (กรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน) แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ รวมทั้งเรือสินค้าสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นเดินทางมาถึงไทยแล้วก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็ยังไม่ขยายตัว เนื่องจากไม่มีการติดต่อที่ใกล้ชิด รวมทั้งการค้ากับต่างประเทศของไทยโดยเฉพาะกับประเทศตะวันตกก็ยังไม่ขยายตัว เนื่องจากฝ่ายไทยยังคงบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการค้ากับ ต่างประเทศนัก