สุวรรณภูมิดินแดนแห่งทองคำ

สุวรรณภูมิ แปลตามรากศัพท์ได้ว่า ดินแดนแห่งทองคำ ชื่อนี้เป็นคำเรียกขานที่พวกพ่อค้าทั้งตะวันออกและตะวันตกดินใช้เรียกแดนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเดินทางมาติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายกับชนพื้นเมืองที่นี่เมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน แต่ไม่มีการบันทึกถึงเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมจึงเรียกดินแดนนี้ว่า สุวรรณภูมิ ปัจจุบันนักวิชาการจึงได้วิเคราะห์ถึงที่มาของชื่อสุวรรณภูมิไว้ 3แนวทาง คือ หนึ่ง สุวรรณภูมิ ที่หมายถึงดินแดนที่มีแร่ทองคำอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากทองคำเป็นสิ่งหายาก ทำให้พ่อค้าอยากมาค้าขายเพื่อแสวงหาทองคำไปด้วย หรือสองอาจเป็นไปได้ว่าที่นี่เป็นแหล่งผลิตเครื่องใช้สำริดซึ่งมีส่วนผสมของดีบุกในปริมาณสูง เลยมีผลให้วัตถุมีผิวสีเหลืองคล้ายทอง จึงมีการเปรียบเปรยว่าที่นี่เป็นดินแดนแห่งทอง หรือสามเป็นการเรียกในเชิงเปรียบเทียบ หรือมีนัยถึงความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากดินแดนแถบนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรต่างๆ ทั้งแร่ธาตุและของป่านานาชนิดซึ่งจัดเป็นสินค้าราคาแพง ทำให้บรรดาพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายต่างร่ำรวยกลับไป เมื่อพิจารณาจากทั้งหมดแล้ว 3 แนวทางจะเห็นว่าการเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าสุวรรณภูมิหรือดินแดนแห่งทองคำ ก็ดูจะไม่เกินจริงนักเพราะหากดูสภาพภูมิประเทศและทรัพยากรของดินแดนนี้ที่แผ่นดินใหญตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศอินเดียและอยู่ทางทิศใต้ของประเทศจีนและอยู่ติดทะเล ทำให้เกือบทุกประเทศที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ คือ พม่า ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม มีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดทะเลซึ่งสามารถติดต่อกับโลกภายนอกทางทะเลได้โดยสะดวก มีแผ่นดินที่มีลักษณะเป็นแหลมใหญ่ยาว ยื่นลงไปในทะเล ประกอบด้วยคาบสมุทรพม่า คาบสมุทรมลายู และคาบสมุทรอินโดจีน ส่วนทรัพยากรธรรมชาตินั้น ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และสำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะเครื่องเทศและของป่าซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณไม้เศรษฐกิจและของป่านานาชนิด ได้แก่ ไม้เนื้อหอมอย่างไม้ฝาง ไม้กฤษณา หรือจำพวกไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้แดง ไม้รัง ไม้ประดู่ เป็นต้น สมุนไพร เครื่องเทศ เช่น พริกไทย กานพลู ลูกจันทร์ หรือเป็นผลิตผลจากป่า อย่างนอแรด ครั่ง งาช้าง หนัง-เขา-กระดูกสัตว์ ขนนก ขนเม่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุที่สำคัญอีกหลายชนิด เช่น ทองคำ เงิน ดีบุก ตะกั่ว เหล็ก ทองแดง เพชร พลอย ฯลฯ ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เอื้ออำนวย ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความ หลากหลายทางชีวภาพ บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นดินแดนที่ดึงดูดพ่อค้าและผู้คนจากทั่วโลกให้เดินทางเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนและสัมผัสดินแดนแห่งความมั่งคั่งนี้มิได้ขาด จนเกิดคำเรียกและกลายเป็นดินแดนที่มีชื่อเสียงปรากฏในเอกสารทั้งของโลกตะวันตกและตะวันออกว่า “สุวรรณภูมิดินแดนแห่งทองคำ”