สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นหนึ่งในประเทศย่านอาเซียนที่มีแหล่งแร่มีค่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ เงิน ทองแดง ดีบุก สังกะสี โดยเหมืองแร่สำคัญเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ในลาวได้แก่ เหมืองเซโปน เหมืองภูคำ และเหมืองอัตตะปือ เป็นต้น แหล่งแร่เหล่านี้มีมูลค่ารวมกันกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า3 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว สปป.ลาวส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ มากกว่าการนำเข้า โดยมีตลาดที่สำคัญคือ เบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย และสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ เป็นการส่งออก โดยโรงงานใหญ่กลับไปยังประเทศของผู้ผลิตเอง เช่น ทองคำแท่ง ส่งกลับไปยังประเทศออสเตรเลีย และจีน ส่วนเครื่องประดับประเภททองคำ และทองคำขาว จะมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของลาว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าลาวจะมีเหมืองที่ผลิตทองคำได้มากแต่จากข้อมูลของสภาทองคำโลก (World Gold Council) ระบุว่าลาวถือครองทองคำสำรองในประเทศเพียง 8.9 ตันซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยกว่า 17 เท่าตัว และการซื้อขายทองคำทองคำแท่งในสปป.ลาวก็ยังถือว่ามีไม่มากนัก ในส่วนของอุตสาหกรรมทองคำรูปพรรณ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยมีโรงงานขึ้นรูปตัวเรือนกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทองที่นำมาแปรรูปซื้อจากธนาคารแห่งชาติลาว เน้นการผลิตแบบ handmade ที่โชว์ลวดลายแบบดั้งเดิม ซึ่งร้านจำหน่ายเพชรและทองส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กกระจายอยู่ตามแขวงต่างๆ รูปแบบการขาย ก็ใช้วิธีชั่งน้ำหนักเป็นกรัม และใช้น้ำหนักทองเป็นบาทและสลึง เช่นเดียวกับประเทศไทย การกำหนดราคาทองคำรูปพรรณของสปป.ลาวจะอ้างอิงราคาของตลาดโลก และบวกค่ากำเหน็จ ประมาณ 200 – 500 บาท ขึ้นอยู่กับลวดลาย หากมีเพชรหรือพลอยประดับ ก็จะมีค่ากำเหน็จสูงขึ้นประมาณ บาทละ 1,000 บาท ส่วนต่างของราคาทองคำแท่งขายออกกับรับซื้อคืน โดยประมาณจะอยู่ที่ 200 – 300 บาท ร้านค้าที่ขายทองคำแท่ง ก็จะมีน้ำหนักตั้งแต่ 5 บาท ไปจนถึง 65.6 บาท หรือประมาณ 1 กิโลกรัม โดยสถานการณ์การซื้อขายทองคำในลาวนั้นจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาต่างๆ เช่น เทศกาลใหญ่ประจำปี หรือช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวก็จะมีการซื้อขายทองกันอย่างคึกคัก