เครื่องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะมีขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นอกจากเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ, พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกร, วาลวิชนี (พัชนี,พระแส้จามรี), ฉลองพระบาทเชิงงอน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดีแล้ว ยังมีเครื่องประกอบพระราชพิธีที่สำคัญอีกหลายสิ่ง  ได้แก่ พระธำมรงค์ หมายถึง แหวน มาจากภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า ทรวดทรงและเครื่องทรงของกษัตริย์ ผู้รู้กล่าวว่า คำนี้ในภาษาเขมรโบราณแปลว่า เครื่องประดับนิ้ว แหวน อาวุธ หนังสือ “ราชูปโภคและพระราชฐาน” กล่าวถึงพระธำมรงค์ ๒ องค์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แก่ พระธำมรงค์วิเชียรจินดา และ พระธำมรงค์รัตนวราวุธ พระธำมรงค์วิเชียรจินดา ทำด้วยทองคำ ด้านในลงยาก้านวงฝังเพชรมีดอกไม้เพชรติดที่ก้านข้างละ 1 ดอกมีมงคลเพชร 2 ชั้น กลางฝังเพชรขนาดประมาณ 1.6-2.0 เซนติเมตร พระธำมรงค์รัตนวราวุธ ทำด้วยทองคำ ข้างหนึ่งทำเป็นรูปตรีศูลและคฑาฝังเพชร อีกข้างหนึ่งทำเป็นรูปสังข์กับจักรฝังเพชร ตัววงฝังเพชร ยอดเป็นนพรัตน์แต่ใช้โอปอแทนมุกดา กลางฝังเพชรขนาดประมาณ 2.5x2.8 เซนติเมตร เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ หมายถึง เครื่องประดับอันเป็นมงคล หัวหน้าพราหมณ์นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระมหากษัตริย์ประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐ มี ๓ รายการคือ – พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ เป็นสร้อยที่ทำจากฝ้าย พราหมณ์เป็นผู้จัดทำตามกรรมวิธีของพราหมณ์ ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาซ้าย​ – พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ เป็นสร้อยทองคำ ๒ เส้นคู่กัน มีดอกประจำยาม ๒๗ ดอก ทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ ๙ ชนิดได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์ ดอกละชนิดสลับกัน ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาขวา​ – พระสังวาลพระนพ เป็นสร้อยอ่อนทำด้วยทองคำ ๓ เส้นเรียงกัน มีดอกประจำยามทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ ๙ ชนิด เชื่อมสร้อยทั้ง ๓ เส้นเข้าด้วยกัน ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาขวา พระแสงอัษฎาวุธ หมายถึง อาวุธ ๘ อย่าง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะมีการถวายพระแสงอัษฎาวุธแด่พระมหากษัตริย์ รายชื่อพระแสงทั้ง 8 ชนิดที่ปรากฏในตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาคือ พระแสงปืน พระแสงหอกไชย พระแสงดาบชะเลย พระแสงของ้าว พระแสงจักร พระแสงตรีศูล พระแสงเขน และพระแสงทัณฑ์ จนล่วงมาถึงรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี พระแสงทั้ง 8 ชนิดยังคงเป็นพระแสงชนิดเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยาทั้ง 8 ชนิด แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 9 พระแสงอัษฎาวุธ บางองค์มีชื่อเรียกต่างจากเดิม พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสโตง ใช้คำว่าพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสโตง เป็นต้น

เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-tom/gold-rate/