ตลอด 417 ปี ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เป็นช่วงสมัยที่มีการบันทึกเรื่องราวของเครื่องประดับเป็นลายลักษณ์อักษรไว้มามากที่สุด ดังปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง กฎมณเฑียรบาล จดหมายเหตุและบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรี รวมถึงจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งต่างจากสมัยสุโขทัยที่แทบไม่มีการบันทึกไว้เลย จากบันทึกต่างๆทำให้เราสามารถแบ่งเครื่องประดับในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ เครื่องประดับสำหรับพระมหากษัตริย์ มเหสี ราชวงศ์และขุนนางในราชสำนัก กับเครื่องประดับสำหรับคนทั่วไป ในสมัยอยุธยานั้นกษัตริย์เปรียบเสมือนสมมติเทพ เครื่องประดับจึงต้องที่ดูสง่างาม สมพระเกียรติโดยเฉพาะในเวลามีพระราชพิธี หรือเสด็จออกท้องพระโรง ทำด้วยโลหะมีค่าต่างๆเช่น ทองคำ เงิน ทองเหลือง และอัญมณี ต่างๆ รูปแบบของเครื่องประดับมักได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เปอร์เซีย และชาวตะวันตกนำมาผสมผสานกับการทำเครื่องประดับของไทย ให้แปลกใหม่ออกไปจากเดิม เครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ มเหสี ราชวงศ์ และขุนนางในราชสำนัก มีระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาล มี 10 ชนิดได้แก่ 1.มงกุฎหรือชฎาเป็นเครื่องประดับประเภทศิราภรณ์ ใช้สำหรับกษัตริย์และมเหสี 2.เทริด (อ่านว่า เซิด)สำหรับกษัตริย์และมเหสี และราชวงศ์ 3.พระเกี้ยว มีลักษณะเป็นวงคล้ายพวงมาลัยใช้สำหรับรัดผมหรือรัดจุก 4.พระกุณฑลคือ ตุ้มหู หรือต่างหู 5.สังวาล เป็นสร้อยที่คล้องลงมาจากบ่าทั้ง ๒ ข้าง 6.สร้อยพระศอ หรือสร้อยคอ 7.พาหุรัดหรือกำไลรัดต้นแขน 8.ทองพระกร หรือกำไลข้อมือ 9.ทองพระบาทหรือกำไลข้อเท้า นิยมใส่เฉพาะสตรี 10.พระธำมรงค์ หรือ แหวน . ส่วนเครื่องประดับสำหรับบุคคลทั่วไปนั้น นิยมใส่แหวนไว้ที่นิ้วกลาง นิ้วนาง หรือนิ้วก้อย โดยอนุญาตให้ใส่ได้มากเท่าที่จะใส่ได้ ผู้หญิงนิยมใส่ต่างหูทำด้วยทองคำ เงิน หรือเงินกะไหล่ทอง แต่ผู้ชายไม่นิยมใส่ ลูกของคนมีฐานะดีนิยมสวมกำไลข้อมือจนมีอายุ ๖ - ๗ ขวบ และอาจสวมกำไลต้นแขน และกำไลข้อเท้าด้วย ในขณะที่ลูกสาวของขุนนางนิยมสวมรัดเกล้าทองคำในพิธีแต่งงาน
เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-tom/gold-rate/