แผ่นทองคำ เป็นเงินตรารูปแบบหนึ่งที่เคยใช้กันในอดีต ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน เนื่องจากส่วนใหญ่มักนำไปหลอมรวมเป็นทองคำแท่ง ผลิตเป็นทองรูปพรรณ หรือนำไปเป็นส่วนผสมในขั้นตอนการชุบโลหะอื่นให้มีลักษณะคล้ายทองแต่ที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีจัดแสดงแผ่นทองคำที่เคยใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ได้ชมกัน แผ่นทองคำที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ใช้กันในหัวเมืองทางภาคเหนือของไทยซึ่งเป็นพื้นที่การค้าสำคัญ มีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่าและลาว ซึ่งสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนได้ด้วย สินค้าสำคัญที่มีการซื้อขายกันในสมัยก่อนคือ ไม้สักและของป่าหายาก ซึ่งการค้าขายตามชายแดนในขณะนั้นนิยมใช้แผ่นทองคำเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพราะทองคำเป็นโลหะซึ่งมีมูลค่าสูงเป็นที่ยอมรับในทุกเชื้อชาติและทุกสังคม แม้ในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 ซึ่งประเทศไทยมีเหรียญกษาปณ์และธนบัตรออกใช้แล้วมาเป็นเวลานานแล้ว แต่พ่อค้าตามชายแดนไทย–พม่า ก็ยังนิยมชำระหนี้ด้วยแผ่นทองคำกันอยู่ แผ่นทองคำที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ มีความบริสุทธิ์ของเนื้อทองมากกว่าทองคำแท่งและทองรูปพรรณทั่วไป แผ่นทองคำแต่ละใบจะมีรอยพิมพ์ประทับชื่อร้านค้าผู้จำหน่าย และโรงงานผู้ผลิต เพื่อเป็นหลักประกัน บางแผ่นมีตราประทับเป็น รูปช้าง นกยูง ฯลฯ ทั้งนี้สันนิฐานว่าการใช้แผ่นทองคำแทนเงินตรามีมาแต่โบราณแล้วโดยเฉพาะการทำการค้าของชาวจีน เมื่อไม่นานมานี้ก็มีชาวบ้านขุดพบทองคำ และแผ่นทองคำจำนวนหนึ่งโดยบังเอิญขณะทำสวนที่จังหวัดพัทลุง อาจารย์ อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้วิเคราะห์ตัวอักษรจีน ป้าเป่ยเจียซี ที่ประทับอยู่บนแผ่นทองคำไว้ว่า ป้าเป่ยคือชื่อของสถานที่ เจียแปลว่าถนน ซีแปลว่าตะวันตก เมื่อแปลความหมายโดยรวมแล้วหมายถึง โซนฝั่งตะวันตกของถนนป้าเป่ย หรือถนนป้าเป่ยฝั่งตะวันตก (ป้าเป่ยเจียซี เป็นสถานที่แห่งหนึ่งอยู่บริเวณทะเลสาบซีหู เมือง หางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในปัจจุบัน) บริเวณส่วนกลางของแผ่นทองคำอ่านได้ว่า แซ่หาน เป็นชื่อผู้การันตี หรือรับรองคุณภาพทองคำว่าเป็นทองคำแท้ ท้ายสุดเป็นอักษรที่บอกเปอร์เซ็นต์ทอง ซึ่งอ่านได้ว่า สือเฟินจิน แปลว่า ทองคำสิบส่วน ซึ่งถือเป็นทองที่มีคุณภาพสูงหรือเปอร์เซ็นต์ทองคำสูง และทองคำแต่ละแผ่นที่พบมีลักษณะคล้ายๆกันคือมีชื่อผู้ผลิต ชื่อผู้การันตี และค่าเปอร์เซ็นต์ทอง ที่น่าสังเกตคือทองบางแผ่นมีลักษณะฉีกขาดมาแต่เดิมอันเนื่องมาจากการฉีกใช้ซื้อสินค้าตามมูลค่าของสินค้านั้นๆ แผ่นทองคำนี้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนซื้อขายแทนเงินตราเนื่องจากในสมัยโบราณเงินเหรียญมีน้ำหนัก ยากแก่การพกพา จึงคิดทำแผ่นทองขึ้นมาใช้แทนเปรียบเสมือนกับธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการผลิตทองคำแผ่น ต้องมีการสัมปทานจากรัฐ หรือราชสำนัก เมื่อได้ทองคำเป็นแผ่นมาแล้วก็จะนำมาพับ และปั๊มตัวหนังสือลงไปบริเวณมุมแผ่น และกลางแผ่นทองคำ สังเกตดูจะพบว่ามีตัวหนังสือคล้ายๆกันกระจายไปทั่วทั้งแผ่น หรืออย่างของไทยก็มีการประทับเป็นรูปต่างๆเพื่อแสดงแหล่งที่มานั่นเอง
เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-tom/gold-rate/