งานประกาศรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 โดยป.วรานนท์ นักจัดรายการเพลงชื่อดังประจำสถานีวิทยุกองพลที่ 1 เป็นผู้ริเริ่มจัดอัดดับเพลงไทยสากลยอดนิยมประจำสัปดาห์ขึ้น โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิช่วยกันทำการคัดเลือกเพลง และนักร้องที่ร้องเพลงได้ไพเราะ โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลสูงสุด ในชีวิตนั่นก็คือการเข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อัน เป็นเกียรติยศสูงสุดของศิลปินเพลง การจัดงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งแรกนั้น มีการมอบรางวัลให้กับเพลงไทยสากล หรือเพลงลูกกรุง สองประเภทคือ ประเภท ก.คือเพลงที่คณะกรรมการคัดเลือก ได้แก่เพลง มารหัวใจ รักเอย ใจพี่ และประเภท ข. คือเพลงที่ส่งประกวด ได้แก่เพลง ใครหนอ วิหคเหิรลม โดยในครั้งแรกนี้ ยังไม่มีการมอบรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานให้กับเพลงลูกทุ่งแต่อย่างใด จนเมื่อมีการจัดงานมอบรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 จึงได้มีการพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำให้กับศิลปินลูกทุ่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลคนแรกคือ ทูล ทองใจ จากเพลง รักใครไม่เท่าน้อง และ ผ่องศรี วรนุช จากเพลง “กลับบ้านเถิดพี่ ต่อมาปี พ.ศ. 2514 รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ได้เข้ารับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลง ฝนเดือนหก ยังความปลาบปลื้มปีติ ให้แก่ศิลปินที่ได้รับรางวัลอันสูงสุดในชีวิต ส่วนรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานของเพลงไทยสากล คือเพลง รักเธอเสมอ ขับร้องโดยสมศักดิ์ เทพานนท์ เพลงดาวประดับเมือง โดยสวลี ผกาพันธ์และเพลงยามชัง โดยทนงศักดิ์ ภักดีเทวา การจัดประกวดเพลงแผ่นเสียงทองคำพระราชทานดำเนินการจัดได้เพียง 3 ครั้งก็ต้องยุติลง เนื่องจากไม่มีผู้ใดดำเนินการต่อโดยครั้งนี้จัดขึ้นในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ เพลงที่ได้รับรางวัล คือเพลง คืนหนึ่ง ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหและ-สวลี ผกาพันธ์ เพลงนางรอง โดยทูล ทองใจ เพลงหากรู้สักนิด โดยธานินทร์ อินทรเทพ ต่อมาจึงมีการฟื้นฟูการจัดประกวดเพลงขึ้นมาใหม่โดยเรียกชื่อใหม่ว่า รางวัลเสาอากาศทองคำ จัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2518 การจัดงานรางวัลเสาอากาศทองคำ มีสถานีวิทยุเสียงสามยอด (ส.ส.ส.) เป็นแม่งานร่วมกับสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย เพลงไทยลูกกรุงที่ได้รับรางวัลคือเพลง เพียงคำเดียว ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง เพลงอย่ามารักฉันเลย โดยเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ถึงแม้ปัจจุบัน การประกวดแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจะไม่มีการจัดประกวดอีกแล้ว แต่ความทรงจำและความประทับใจในเสียงร้องของสุดยอดครูเพลงก็ยังคงความประทับใจให้กับคนไทยไปตราบนานเท่านาน